ดอกไม้จันทน์

รูปดอกไม้จันทร์ธรรมดา

ความเป็นมาของ "ดอกไม้จันทน์"

“ดอกไม้จันทน์ มักเขียนผิดเป็น ดอกไม้จัน หรือ ดอกไม้จันทร์ ถ้าอ้างอิงตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525  อธิบายไว้ว่า “ดอกไม้จันทน์” คือ เนื้อไม้จันทน์เป็นต้น ที่ไสเป็นแถบบางนำมาประดิษฐ์เป็นช่อขนาดเล็ก ใช้ในการเผาศพ” 

“ตามคติความเชื่อของชาวพุทธ “ดอกไม้จันทน์” ถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเคารพและไว้อาลัย เพราะเชื่อว่ากลิ่นหอมของดอกไม้จันทน์จะนำดวงวิญญาณของผู้ที่ล่วงลับไปสู่สรวงสวรรค์การทำดอกไม้จันทน์ในงานศพ

คติความเชื่อเรื่องดอกไม้จันทน์

1.ห้ามหยิบดอกไม้จันทน์ยื่นให้กัน ห้ามหยิบเผื่อกัน  มีความเชื่อเกี่ยวกับการยื่น หรือหยิบส่งต่อดอกไม้จันทน์ให้กันว่าเหมือนกับการส่งต่อความโศกเศร้า หรือที่ร้ายแรงก็คือเหมือนส่งต่อความตายให้กัน เพราะดอกไม้จันทน์เป็นไม้ที่จะมอบให้ผู้ล่วงลับ หรือผู้วายชนม์เท่านั้น   

2.ไม่ควรไหว้ หรือห้ามไหว้ดอกไม้จันทน์ในขณะที่เราถือไว้ในมือ  ในอดีต หรือคำโบราณกล่าวไว้คือ ไม่ควรยกมือไหว้ขณะที่ถือดอกไม้จันทน์อยู่ในมือ ให้ใช้วิธีโค้งคำนับ หรือกล่าวคำทักทายแทน   

3.ห้ามชมดอกไม้จันทน์ว่าสวย  มีความเชื่อเกี่ยวกับการชมดอกไม้จันทน์ว่าสวยนั้นเปรียบเสมือนคนที่เอ่ยปากชมดอกไม้จันทน์นั้นอยากได้ดอกไม้จันทน์ไว้ครอบครอง จะเป็นลางให้เกิดมีคนเสียชีวิต หรือมีงานศพเพิ่มขึ้น หรือผู้ที่เอ่ยปากชมจะเสียชีวิตเสียเอง เช่นเดียวกับความเชื่อที่ไม่ควรชมทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องในงานศพว่าสวยเช่นกัน   

4.ให้หยิบดอกไม้จันทน์จากพานด้วยตัวเอง  มีความเชื่อเกี่ยวกับการหยิบดอกไม้จันทน์จากพานด้วยตัวเองว่าไม่ควรหยิบยื่นให้แก่กัน ตามข้อห้ามในข้อที่ 1. นั่นอาจหมายถึงการหยิบยื่นความตายให้แก่กัน และบางที่จะมีดอกไม้จันทน์วางใส่พานให้ผู้ที่มาร่วมพิธีฌาปนกิจศพได้หยิบกันเอง คนละ 10 ดอก ก่อนเดินขึ้นเมรุเพื่อเคารพศพเป็นครั้งสุดท้าย   

5.วิธีการวางดอกไม้จันทน์  เมื่อถึงจุดวางดอกไม้จันทน์ ให้โค้งคำนับ 1 ครั้ง วางดอกไม้จันทน์ที่พาน จากนั้นโค้งคำนับอีก 1 ครั้ง และเดินแถววนออกไปทางฝั่งซ้าย และขวาของจุดวางดอกไม้จันทน์ เป็นอันจบขั้นตอนการวางดอกไม้จันทน์

และทั้งหมดนี้ก็คือข้อห้ามปฏิบัติเกี่ยวกับดอกไม้จันทน์ที่มีความเชื่อต่อ ๆ กันมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน และ ดอกไม้จันทน์เรียกได้ว่าเป็นที่นิยมทำกันเป็นประเพณีสืบมายาวนานหลายร้อยปี และยังเป็นการเพิ่มไม้ฟืนในการเผาศพได้เป็นอย่างดี ธรรมเนียมการใช้ดอกไม้จันทน์ เริ่มมาจากการใช้เครื่องหอมในงานศพ ทั้งเพื่อเป็นการดับกลิ่นศพ และยังเป็นการขอขมาศพแทนดอกไม้ธูปเทียนได้อีกต่างหาก โดยการเผาศพปัจจุบันผู้ขึ้นเผาบนเมรุไม่จำเป็นต้องนำดอกไม้ธูปเทียนขึ้นไปเผาด้วย เพียงถือดอกไม้จันทน์ที่ได้รับแจกจากเจ้าภาพก็ขึ้นเผาศพได้แล้ว เป็นการสะดวกในการใช้งานและการพกพา ไม่ต้องนำมาจากบ้านเพราะมารับแจกได้จากเจ้าภาพที่งานศพเลย เสร็จแล้วก็เผาไปพร้อมกับศพเป็นอันเสร็จพิธี

ดอกไม้จันทร์เลียนแบบดอกจริงชนิดต่างๆ

ดอกไม้ต้นแบบของ ดอกไม้จันทน์

  1. ดอกดารารัตน์ หรือดอก Daffodil เป็นดอกไม้ทรงโปรดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และพระราชทานให้กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถอยู่เสมอ เมื่อครั้งยังทรงศึกษาและประทับอยู่ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ดอกดารารัตน์นิยมใช้มอบให้แก่บุคคลอันเป็นที่รัก เพื่อบอกว่าไม่เคยหวังสิ่งใดตอบแทน และยังหมายถึง เกียรติยศ ความกล้าหาญ สัญลักษณ์ของความหวัง ชื่อดอกดารารัตน์ยังมีความหมายที่ลึกซึ้ง โดยคำว่า ‘ดารา’ หมายถึง ดวงดาว คือสิ่งที่อยู่สูงสุด คำว่า ‘รัตน์’ หมายถึง แก้ว คือ สิ่งที่มีค่า 
  2. ดอกกุหลาบ เป็นสัญลักษณ์แห่งความรักอันบริสุทธิ์ด้วยอานุภาพแห่งความจงรักภักดีของทวยราษฎร์ที่ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในองค์พระประมุขของชาติ เพื่อถวายความอาลัยเป็นครั้งสุดท้ายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ผู้เป็นกษัตริย์ที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย
  3. ดอกพุดตาน เป็นสัญลักษณ์ของความมั่นคงและความอุดมสมบูรณ์ ชาวจีนเชื่อว่าเป็นไม้มงคล เพราะดอกพุดตานเปลี่ยนสีได้ถึงสามสีภายในวันเดียวกัน ซึ่งเปรียบเสมือนวัฏจักรของชีวิตมนุษย์ที่เริ่มต้นเปรียบเหมือนเด็กที่เป็นผ้าขาว เติบโตขึ้นพร้อมกับสีสันที่แต่งแต้มขึ้นมาจนกระทั่งสูงอายุมากขึ้นพร้อมกับสีที่เข้มขึ้นจนกระทั่งร่วงโรยจากไป เพื่อเป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระราชกุศลอุทิศถวายครั้งสุดท้ายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
  4. ดอกชบาทิพย์ เป็นดอกไม้ที่สร้างสรรค์ประดิษฐ์ขึ้น เพื่อสื่อถึงการดับสูญและความเป็นทิพย์และเพื่อเป็นการถวายความอาลัยเป็นครั้งสุดท้ายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระผู้ทรงสถิตในดวงใจของประชาราษฎร์ชั่วนิรันดร์
  5. ดอกชบาหนู เปรียบเสมือนความอาลัยในการสูญเสียของพสกนิกรทุกหมู่เหล่า เป็นสัญลักษณ์ที่แทนดวงใจไทยทุกดวงในการน้อมส่งเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ
  6. ดอกลิลลี่ ดอกลิลลี่แสดงออกถึงความรักที่บริสุทธิ์เช่นเดียวกับดอกกุหลาบสีขาว อีกทั้งดอกลิลลี่สีขาวยังแสดงออกถึงความซื่อสัตย์และเทิดทูนด้วยอานุภาพแห่งความจงรักภักดีของพสกนิกรชาวไทยที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นฃ
  7. ดอกกล้วยไม้ เป็นสัญลักษณ์ของความมั่นคง ความรัก และความสง่างามสมดังพระมหากรุณาธิคุณในการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ให้ขจรขจายไปทั้งแผ่นดินไทยตลอดถึงนานาประเทศทั่วโลก

ทำ ดอกไม้จันทร์ ด้วยตัวเอง (คลิป)

บทความที่เกี่ยวข้อง